ภาวะติดเชื้อในช่องคลอด (คัน ตกขาว ช่องคลอดมีกลิ่น)
ตกขาว (Leukorrhea หรือ Vaginal Discharge) คือ อาการที่มีเมือกเหลวไหลออกมาจากช่องคลอดของผู้หญิงโดยไม่ใช่เลือดประจำเดือน เมือกนี้ถูกขับออกจากปากมดลูกมายังช่องคลอด เพื่อสร้างความชุ่มชื้นให้บริเวณช่องคลอดและช่วยป้องกันการติดเชื้อภายในช่องคลอด โดยตกขาวปกติจะมีสีขาวหรือใส และไม่มีกลิ่นเหม็น ส่วนตกขาวที่มีสีเทา สีเขียว สีเหลือง สีชมพู หรือมีเลือดปน และส่งกลิ่นเหม็นคล้ายเนื้อเน่า จะเป็นสัญญาณของปัญหาสุขภาพที่เกิดขึ้นภายใน
อาการของตกขาว
ตกขาวปกติ
- มีสีขาวหรือใส และไม่มีกลิ่นเหม็น
- ตกขาวจะใสและมีปริมาณมากในช่วงวันที่มีการตกไข่ ส่วนในช่วงที่เป็นประจำเดือน ตกขาวจะหนาและเหนียวข้น
- ในระหว่างการตั้งครรภ์ ผู้หญิงจะมีตกขาวมากกว่าปกติ
- หลังวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงจะมีตกขาวน้อยลง
ตกขาวที่ผิดปกติ
- มีสีที่ต่างไปจากเดิม เช่น สีเทา สีเขียว สีเหลือง สีชมพู สีน้ำตาลหรือตกขาวมีเลือดปน และมีกลิ่นไม่พึงประสงค์ คล้ายกลิ่นเนื้อหรือปลาเน่า
- ตกขาวเป็นก้อนหนา หรือมีตกขาวมากผิดปกติ
- มีอาการอื่นปรากฏร่วมกับตกขาว เช่น มีอาการคันหรือเจ็บปวดบริเวณปากช่องคลอด เจ็บปวดขณะมีปัสสาวะหรือขณะมีเพศสัมพันธ์ มีเลือดที่ไม่ใช่ประจำเดือนไหลออกจากช่องคลอด
สาเหตุของตกขาว
ตกขาวเป็นเมือกที่ถูกขับจากปากมดลูกให้ไหลมายังช่องคลอด เพื่อหล่อลื่นสร้างความชุ่มชื้นและช่วยป้องกันการติดเชื้อ
ตกขาวที่ผิดปกติมักเป็นผลมาจากการติดเชื้อและอาการป่วยต่าง ๆ ได้แก่ การติดเชื้อแบคทีเรีย ทำให้เกิดภาวะช่องคลอดอักเสบ เช่น โรคหนองในแท้หรือโรคหนองในเทียม การแพร่กระจายของเชื้อรา ทำให้เกิดโรคเชื้อราในช่องคลอด การติดเชื้อไวรัสทำให้เกิดเริมที่อวัยวะเพศ ปรสิตที่ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ทำให้เกิดการติดเชื้อทริโคโมนาส
ส่วนอาการตกขาวผิดปกติที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อ อาจเกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในช่องคลอดหรือปากมดลูก การแพ้สารเคมี เช่น สารจากผ้าอนามัย หรือถุงยางอนามัย การสวนล้างช่องคลอด การเกิดติ่งเนื้อที่ปากมดลูก เป็นต้น
การสังเกตลักษณะตกขาวและอาการอื่น ๆ ที่เกิดขึ้นร่วมกับการมีตกขาวที่ผิดปกตินั้น อาจทำให้ทราบสาเหตุของการป่วยเบื้องต้นได้ ดังนี้
- ตกขาวสีขาวขุ่นหรือเทา และมีกลิ่นคาวปลา มีลักษณะเป็นเมือกบางและเปียก มักไม่พบอาการเจ็บป่วยอื่นร่วมด้วย อาจเกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียและป่วยเป็นแบคทีเรียล วาไจโนสิส (Bacterial Vaginosis) ซึ่งเป็นภาวะช่องคลอดอักเสบที่เกิดจากความไม่สมดุลของเชื้อแบคทีเรียภายในช่องคลอด ไม่ใช่การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ แต่การมีเพศสัมพันธ์ภายหลังการติดเชื้ออาจทำให้อาการป่วยแย่ลงได้
- ตกขาวสีขาว เป็นแป้งหนา และมีอาการคัน หรืออาจเจ็บปวดบริเวณช่องคลอดร่วมด้วย แต่มักไม่มีกลิ่นเหม็น อาจเป็นโรคเชื้อราในช่องคลอด และไม่ใช่การติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์
- ตกขาวสีชมพู อาจเป็นการหลุดลอกของเยื่อบุมดลูกหลังคลอด
- ตกขาวสีเขียว สีเหลือง อาจมีอาการเจ็บปวดและคันรอบช่องคลอด เจ็บปวดขณะปัสสาวะและขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งอาจเกิดจากการติดเชื้อ การเป็นหนองในแท้ หนองในเทียม
- ตกขาวแบบมีฟอง อาจเกิดจากการติดเชื้อทริโคโมนาส
- ตกขาวแบบมีเลือดปน และมีความเจ็บปวด ปวดบริเวณอุ้งเชิงกราน เจ็บปวดขณะปัสสาวะและขณะมีเพศสัมพันธ์ อาจเกิดจากประจำเดือนมาไม่ปกติ มะเร็งเยื่อบุมดลูก หรือมะเร็งปากมดลูก
- ตกขาวร่วมกับตุ่มบวมแดง หากมีตุ่มบวมแดงรอบอวัยวะเพศ อาจเป็นเริมที่อวัยวะเพศ
การวินิจฉัยตกขาว
ปกติแล้ว อาการตกขาวเป็นกลไกตามธรรมชาติของร่างกายเพศหญิง แต่หากพบว่ามีตกขาวที่ผิดปกติ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา โดยแพทย์จะซักประวัติสุขภาพ การรักษา การใช้ยา การเจ็บป่วยที่ผ่านมาหรือที่เป็นอยู่ ประวัติการมีเพศสัมพันธ์ และสอบถามเกี่ยวกับอาการตกขาวที่พบ เช่น สีและกลิ่นของตกขาว อาการที่พบร่วมกับตกขาว อย่างอาการคัน เจ็บปวด หรือมีแผลบริเวณช่องคลอด และช่วงเวลาที่เริ่มมีตกขาวผิดปกติ
หากพบสัญญาณความผิดปกติ แพทย์จะตรวจร่างกายภายใน แล้วจึงนำตัวอย่างตกขาวไปตรวจ หรืออาจใช้วิธีการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก (Pap Test) ในกรณีที่สงสัยว่าอาจป่วยเป็นมะเร็ง ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางช่องคลอด เพื่อป้ายเซลล์จากบริเวณปากมดลูกแล้วส่งตรวจตัวอย่างเนื้อเยื่อหาการติดเชื้อ
การรักษาตกขาว
อาการตกขาวผิดปกติต้องรักษาที่สาเหตุและโรคที่ป่วย ทั้งการรักษาด้วยยาเฉพาะทางหรือการผ่าตัด ขึ้นอยู่กับอาการป่วยและความรุนแรงของโรค แต่โดยทั่วไป ตกขาวมักเกิดจากการติดเชื้อประเภทแบคทีเรียหรือเชื้อราในช่องคลอด ซึ่งรักษาให้หายขาดได้ มีการรักษาเบื้องต้น ดังนี้
การป่วยเป็นแบคทีเรียล วาไจโนสิส (Bacterial Vaginosis) และการติดเชื้อปรสิตทริโคโมนาส แพทย์จะรักษาด้วยการจ่ายยาปฏิชีวนะในรูปแบบยาเม็ดรับประทาน ครีมทาภายในช่องคลอด และยาสอดช่องคลอด โดยใช้ยาเมโทรนิดาโซล(Metronidazole) หรือทินิดาโซล(Tinidazole) ตัวยาจะออกฤทธิ์ยับยั้งการเจริญเติบโตและการแพร่กระจายของทั้งปรสิตและแบคทีเรีย
การใช้ยาปฏิชีวนะควรอยู่ภายใต้การดูแลและคำแนะนำจากแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพราะอาจมีผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ โดยเฉพาะเมื่อใช้ติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือในขณะที่กำลังตั้งครรภ์
การอักเสบจากเชื้อรา ใช้ยาต้านเชื้อราชนิดสอดเข้าไปในช่องคลอด มีทั้งรูปแบบครีม ยาเหน็บ ตัวยาที่ใช้ ได้แก่ โคลไตรมาโซล (Clotrimazole), ไมโคนาโซล (Miconazole) ส่วนยารับประทานใช้ยาฟลูโคนาโซล (Fluconazole) เพื่อยับยั้งทำลายเชื้อราและกระบวนการสร้างเซลล์ของเชื้อรา
หากอาการตกขาวแสดงถึงการติดเชื้อรา สามารถใช้ยารักษาเชื้อราแบบครีม หรือเหน็บช่องคลอดที่ซื้อได้ตามร้านขายทั่วไปโดยไม่ต้องมีใบสั่งแพทย์ โดยในปัจจุบันมียาสอด Neo-Penotran Forte ซึ่งมีตัวยาผสมของยา เมโทรนิดาโซล (Metronidazole-ใช้ยับยั้งปรสิตและแบคที่เรีย) และยาไมโคนาโซล (Miconazole-ยับยั้งเชื้อรา) เพื่อใช้รักษาอาการตกขาวเนื่องจากติดเชื้อหลายชนิดได้ แต่หากรักษาไม่หายและอาการไม่ดีขึ้น ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจรักษา
ภาวะแทรกซ้อนของตกขาว
ตกขาวที่ผิดปกติอาจมีอาการที่แสดงออกมาเนื่องจากการติดเชื้อและการเจ็บป่วยของโรค เช่น
- คัน บวม เจ็บปวด หรือมีแผลบริเวณช่องคลอดและปากช่องคลอด
- มีเลือดที่ไม่ใช่เลือดประจำเดือนไหลออกมาจากช่องคลอด
- เจ็บปวดในขณะปัสสาวะ ปวดบริเวณท้องน้อย
- เจ็บปวดในขณะมีเพศสัมพันธ์
- การติดเชื้ออาจแพร่จากแม่สู่ลูกได้ในการคลอด
- การติดเชื้ออาจแพร่ลามไปยังอวัยวะในระบบสืบพันธุ์อื่น ๆ อาจทำให้เกิดภาวะมีลูกยาก
- การติดเชื้ออาจทำให้เกิดการอักเสบลุกลาม เรื้อรัง และส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรงในระบบสืบพันธุ์ เช่น มดลูก และรังไข่
- ตกขาวที่เกิดจากการมีสิ่งแปลกปลอมอยู่ภายในมดลูกหรือช่องคลอด อาจนำไปสู่อาการช็อกเฉียบพลันจากการที่พิษเข้าสู่กระแสเลือด (Toxic Shock Syndrome) ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที
การป้องกันการเกิดตกขาว
สามารถป้องกันการเกิดตกขาวที่ผิดปกติได้ด้วยการลดปัจจัยเสี่ยงและลดโอกาสการเจ็บป่วยจากการติดเชื้อ เช่น
- รักษาความสะอาดช่องคลอดและอวัยวะเพศอยู่เสมอ
- ล้างช่องคลอดด้วยน้ำและสบู่อ่อน ๆ ที่ไม่ทำให้เกิดการอักเสบระคายเคือง
- สวมใส่กางเกงชั้นในที่สะอาด ทำจากผ้าที่ระบายอากาศได้ดี ไม่หนาและไม่อับชื้น
- ไม่ใช้สบู่หอม สเปรย์พ่น ฟองสบู่ หรือผลิตภัณฑ์ที่มีสารเคมีชนิดต่าง ๆ เพื่อล้างสวนช่องคลอด
- ทำความสะอาดโถสุขภัณฑ์ก่อนการใช้งานเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และล้างทำความสะอาดห้องน้ำอยู่เสมอเพื่อป้องกันการสะสมของเชื้อโรค
- หากผู้ป่วยมีอาการตกขาวผิดปกติโดยมีสาเหตุจากการติดเชื้อทางเพศสัมพันธ์ อีกหนึ่งวิธีการป้องกันการติดเชื้อซ้ำภายหลังการรักษาจนหายดีแล้ว คือ ให้คู่นอนเข้ารับการรักษาการติดเชื้อดังกล่าวด้วย
ขอขอบคุณข้อมูลจาก www.pobpad.com